ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์

แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใดต่างก็ประสบกับปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจดังกล่าวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบต่างก็มีวิธีการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปดังนี้
1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม (capitalism) จะใช้กลไกตลาด (ราคา) หรือที่มักเรียกว่า มือที่มองไม่เห็น เป็นเครื่องมือหรือกลไกในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กล่าวคือ ราคา จะเป็นตัวช่วยตอบปัญหาต่างๆตั้งแต่เริ่มผลิตอะไร อย่างไร และเพื่อใคร ปกติสินค้าและบริการใดที่เป็นที่ต้องการผู้บริโภคก็จะเสนอราคาซื้อสูง นั่นคือ ราคาจะเป็นตัวสะท้อนที่ทำให้ผู้ผลิตทราบความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าและบริการตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ปัญหาที่ว่า ผลิตอย่างไร ซึ่งเป็นปัญหาในเรื่องของเทคนิคการผลิตว่าจะผลิตโดยเน้นใช้ปัจจัยแรงงานหรือปัจจัยทุน ก็ขึ้นอยู่กับราคาโดยเปรียบเทียบของปัจจัยแต่ละประเภท โดยมีหลักว่าผู้ผลิตจะเลือกผลิต หรือใช้ปัจจัยการผลิตในประเภทที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำสุด ซึ่งราคาก็เป็นเครื่องชี้อีกเช่นเดียวกัน สำหรับปัญหา ผลิตเพื่อใคร กล่าวคือ ใครควรจะได้รับการจัดสรรสินค้าและบริการไปอุปโภคบริโภคมากหรือน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับใครมีอำนาจซื้อและเสนอราคาให้มากกว่า ผู้ผลิตหรือผู้ขายก็จะเสนอขายสินค้าและบริการนั้นไปให้ บุคคลนั้นก็จะได้รับสินค้าและบริการไปอุปโภคบริโภคตอบสนองความต้องการของตน โดยสรุป ภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้ราคาจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
2. ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจจะถูกกำหนดมาจากส่วนกลางหรือรัฐบาล กล่าวคือ รัฐบาลจะเป็นผู้วางแผนดำเนินการสั่งการแต่เพียง ผู้เดียว เอกชนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ รัฐจะเป็นผู้กำหนดว่าจะผลิตอะไร จำนวนเท่าใด อย่างไร และจำหน่ายจ่ายแจกหรือกระจายสินค้าและบริการไปให้กับใคร
3. ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม เนื่องจากระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมเป็นระบบ เศรษฐกิจที่มีลักษณะใกล้เคียงกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจนี้จึงใช้กลไกรัฐเป็นกลไกสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม มีการใช้กลไกราคาอยู่บ้าง แต่ยังมีบทบาทค่อนข้างจำกัด
ระบบเศรษฐกิจแบบผสม แนวทางการแก้ไขปัญหาจะใช้ทั้งกลไกราคาและกลไกรัฐร่วมกันไป กล่าวคือ กิจการที่เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อประชาชนโดยส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการเพื่อให้บริการกับประชาชนเอง (กลไกรัฐ) แต่กิจการโดยทั่วไปจะปล่อยให้เป็นไปตามระบบของกลไกตลาด (ราคา)
ได้ความรู้มากจริงๆๆๆๆๆๆ
ได้ความรู้เยอะมาก ขอบคุณครับ