การสาธารณสุขมูลฐาน
กลไกการดำเนินงานสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทย
เราอาศัยระบบอาสาสมัครมาใช้ในการสาธารณสุขมูลฐาน โดยที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งอาสาสมัครขึ้น 2 ประเภทด้วยกัน คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) อาสาสมัครทั้งสองประเภทนี้ นับว่ามีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินงานสาธารณสุขของหมู่บ้าน เพราะบทบาทของผู้สื่อข่าวสาธารณสุขนั้น นอกจากเป็นแกนกลางที่จะเป็นผู้ติดต่อข่าวสารในหมู่บ้าน ซึ่งรับผิดชอบกลุ่มสมาชิกกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 10 หลังตาเรือนนี้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ตลอดจนเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องปัญหาสาธารณสุข และร่วมมือกันในการวางแผนทำกิจกรรมเพื่อจะแก้ปัญหาสาธารณสุขของหมู่บ้านแล้ว เขาเหล่านี้ยังมีความใกล้ชิดกับเพื่อนบ้าน และทราบถึงข่าวและข้อมูลของหมู่บ้านเป็นอย่างดี ซึ่งในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ประกอบไปด้วยผู้สื่อข่าวสาธารณสุข (ผสส.) หลาย ๆ คน คนกลุ่มนี้ถือว่า เป็นแกนสำคัญที่จะช่วยชักจูงและก่อให้เกิดการร่วมมือจากชุมชนในการดำเนินงาน และแก้ปัญหาสาธารณสุขของหมู่บ้าน
...................................................................................................................................................
สำหรับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เราได้คัดเลือกมาจาก ผสส. อย่างน้อยหมู่บ้านละ 1 คน และได้ให้การอบรมเพิ่มเติมในส่วนของบทบาทการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ในแต่ละหมู่บ้านเราจะเห็นว่ามักมีโรคง่าย ๆ ที่พบบ่อย ๆ ในท้องถิ่น และโรคเหล่านี้มีอยู่ประมาณถึงร้อยละ 60-65 ของโรคที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่ง อสม. เหล่านี้สามารถช่วยได้ แต่ถ้าหากเกินความสามารถของเขาเหล่านี้แล้ว เราก็ยังมีระบบบริการของรัฐที่จะรับส่งต่อผู้ป่วยที่จะดำเนินการรักษาพยาบาลต่อไปได้ ดังนั้นจะเห็นว่าอาสาสมัครทั้ง 2 ประเภทนี้ จะเป็นส่วนช่วยในการแก้ปัญหาความครอบคลุมบริการด้านการรักษาพยาบาล การควบคุมป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น การที่ประชาชนเกิดการเจ็บป่วยแล้วมาติดต่ออาสาสมัครเหล่านี้ นอกจากได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นการช่วยค้นหาปัญหาหรือโรคที่ร้ายแรงในขั้นต้นได้ เพราะเขาเหล่านี้มีโอกาสพบคนไข้อยู่เสมอ ๆ ถ้าหากมีโรคระบาดเกิดขึ้นเราก็สามารถจะตรวจพบได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องช่วยเหลือสนับสนุนในด้านวิชาการและความช่วยเหลืออื่น ๆ ให้เขาเหล่านั้นสามารถแก้ปัญหาได้ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควรจะให้การสนับสนุน คือ นอกจากการให้ความรู้ในเบื้องต้นแล้ว เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐทุกระดับควรจะต้องให้ความช่วยเหลือดังต่อไปนี้คือ การติดตามสนับสนุนให้ความช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอ เช่น การให้ความรู้เพิ่มเติมทางด้านวิชาการ การวางแผนสาธารณสุขในหมู่บ้านรวมไปถึงการสนับสนุนให้ชาวบ้านสามารถวิเคราะห์ปัญหา ตลอดจนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของหมู่บ้านได้ เช่น การวางแผนป้องกันโรคหรือการแก้ปัญหาเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น เป็นต้น วิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องอธิบายพร้อมทั้งยกตัวอย่างให้ชาวบ้านเข้าใจได้ จะต้องใช้วิชาการที่ง่าย ๆ ไม่สลับซับซ้อน ต้องเป็นคำพูดง่าย ๆ เปรียบเทียบเป็นตัวเลขง่าย ๆ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจ
...................................................................................................................................................
อย่างไรก็ตาม หากเรามุ่งหวังที่จะทำเรื่องงานสาธารณสุขมูลฐานเพียงอย่างเดียว เราก็จะพัฒนาก้าวหน้าไปได้ไม่ไกล ทั้งนี้เ้พราะงานสาธารณสุขของเราต้องอาศัยรากฐานของการพัฒนาด้านอื่น ๆ อาทิ ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งการศุกษาของประชากรอีกด้วย ดังนั้นงานพัฒนาด้านสาธารณศุขจึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการพัฒนาสังคมด้านอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเอง ก็ตระหนักในความสำคัญนี้ดี ในปัจจุบันได้พยายามเร่งรัดและร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดในการวางแผนการพัฒนาในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งจะเป็นหนทางให้นำไปสู่การประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
แหล่งอ้างอิง:
http://www.sema.go.th/files/Content/Healthiness/k4/0006/pkten/content12/asm1.html