ปฏิวัติเวียดนาม

การก่อตัวของขบวนการคอมมิวนิสต์และขบวนการชาตินิยมอื่นๆ
การต่อต้านฝรั่งเศสในช่วงแรกนั้นนำโดยกลุ่มปัญญาชนขงจื้อซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสได้รับการถ่ายทอดสำนึกการต่อต้านต่างชาติผ่านทางประวัติศาสตร์นิพนธ์มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากระบบการบริหารของฝรั่งเศสโดยตรง เนื่องจากโครงสร้างทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงจากระบบอุปถัมภ์ระหว่างขุนนางขงจื้อกับสามัญชนเป็นระหว่างเจ้าอาณานิคมกับชาวพื้นเมือง กลุ่มปัญญาชนขงจื้อจึงเป็นผู้เสียผลประโยชน์จากการปกครองของฝรั่งเศส แนวทางการต่อสู้นั้นเน้นการโค่นล้มระบอบการปกครองแบบใหม่ของฝรั่งเศสและฟื้นฟูระบอบการปกครองภายใต้จักรพรรดิแบบเดิมขึ้นมาอีกครั้ง ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านฝรั่งเศสในระยะแรกที่สำคัญขบวนการหนึ่งคือ ขบวนการเกิ่นเวือง (Can Vuong Movement) ขบวนการนี้ก่อตัวขึ้นภายหลังการสวรรคตของจักรพรรดิตื่อดึ๊กในปี 1883 นำโดยผู้สำเร็จราชการโตนเทิ้ดเทวี๊ยด (Ton That Thuyet) ขบวนการนี้พยายามเรียกร้องให้ประชาชนสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ด้วยการต่อสู้กับฝรั่งเศส การเรียกร้องดังกล่าวทำให้เกิดการลุกขึ้นสู้ในหลายๆ พื้นที่ นำโดยนักปราชญ์ที่ทำการรวบรวมอาสาสมัครและก่อตั้งเป็นกองกำลังรบกระจายไปทั่วดินแดนอย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะทำการรบยืดเยื้อเป็นเวลากว่า 40 ปี คือนับตั้งแต่ปี 1858 จนถึงปี 1896 ขบวนการผู้รักชาติชาวเวียดนามก็ถูกฝรั่งเศสปราบปรามลงได้สำเร็จ การต่อต้านฝรั่งเศสในระยะแรก (ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19) มีผู้ตั้งข้อสังเกตดังนี้
ประการแรก การต่อสู้ภายหลังการยึดครองของฝรั่งเศสในระยะแรกนั้น โลกทัศน์ในการต่อสู้ของประชาชนยังผูกติดกับระบบเดิม คือในสมัยการต่อต้านการรุกรานของจีน เป้าหมายของการต่อสู้จึงจำกัดอยู่ที่การขับไล่ฝรั่งเศสและฟื้นฟูระบบเดิม
ประการที่สอง จุดอ่อนที่สำคัญของการต่อต้านฝรั่งเศสคือ การขาดศูนย์กลางที่จะชี้นำการต่อสู้ ขบวนการผู้รักชาติต่างรวมกลุ่มของตนเองก่อกบฏเป็นจุดๆ ขาดการประสานร่วมมือกัน ทำให้ฝรั่งเศสปราบปรามได้ง่าย
ประการที่สาม จักรพรรดิและขุนนางเวียดนามไม่สามารถแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนระดับล่างได้อย่างกว้างขวาง เมื่อเทียบกับความสำเร็จของขบวนการชาตินิยมในสมัยต่อมา เพราะระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้แบ่งแยกชนชั้นผู้ปกครองออกจากประชาชน องค์จักรพรรดิไม่เคยเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประชาชน ส่วนหนึ่งคงเกรงว่าประชาชนจะโค่นล้ม โดยเฉพาะหลังจากที่ราชวงศ์เหวียนปราบกบฏไตเซินลงได้ ในขณะเดียวกัน ประชาชนก็ยังคงถือหลักปฏิบัติตามธรรมเนียมแบบเก่า โดยปล่อยให้จักรพรรดิและขุนนางเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของตนและประเทศชาติ ช่องว่างระหว่างราชสำนักกับประชาชนทำให้การร่วมมือกันต่อต้านฝรั่งเศสไม่มีประสิทธิภาพ
ประการที่สี่ ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 แรงกดดันทางเศรษฐกิจยังมีไม่มากนัก เพราะฝรั่งเศสยังไม่สามารถจัดวางระบบได้อย่างเต็มที่ ประชาชนจึงไม่ได้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากเหมือนในระยะต่อมา
ประการที่ห้า บรรดาขุนนางในราชสำนักต่างพยายามใช้องค์จักรพรรดิเป็นศูนย์รวมจิตใจในการต่อต้านฝรั่งเศสแต่เมื่อฝรั่งเศสมักจะเลือกเชื้อพระวงศ์ที่ด้อยคุณภาพมาเป็นจักรพรรดิ และอาศัยสถาบันนี้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ในเวียดนาม จึงทำให้ความศรัทธาในองค์จักรพรรดิเสื่อมลงจนไม่สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนได้อีก