ปฏิวัติเวียดนาม
ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ฟานโบ่ยเจิวได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการต่อต้านฝรั่งเศส เขาเป็นบุคคลที่ฝรั่งเศสถือว่าเป็นนักปฏิวัติที่อันตรายมากที่สุดวิถีชีวิตทางการเมืองของเขาสิ้นสุดลงเมื่อเขาถูกจับตัวในปี 1925“จุดจบในวิถีของเขาแสดงให้เห็นความล้มเหลวของขบวนการปฏิวัติ ซึ่งเป็นขบวนการที่ได้รับแรงกระตุ้นทางการเมืองจากชนชั้นสูงในชาติแต่เพียงอย่างเดียว ในฐานะที่โจ (เจิว) เป็นผู้ก่อตั้ง เขาไม่เพียงละเลยปัญหาที่จะเข้าถึงชาวนาที่อดอยากและกระวนกระวายโดยตรง แต่ละเลยการขยายตัวออกเป็นการปฏิวัติประชาชน…” อย่างไรก็ตาม ยังมีขบวนการผู้รักชาติบางกลุ่มที่เห็นว่าควรจะร่วมมือกับฝรั่งเศสเพื่อพัฒนาเวียดนามทั้งในด้านการเมืองและสังคม ซึ่งนำโดยฟานจูตรินห์ (Phan Chu Trinh) ฟานจูตรินห์ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรง เขาเห็นว่าการปฏิรูปโดยร่วมมือกับฝรั่งเศสเป็นหนทางที่ดีที่สุด เพราะเวียดนามยังมีระดับวัฒนธรรมที่ต่ำกว่ายุโรป และยังไม่พร้อมที่จะนำระบอบประชาธิปไตยมาใช้ ในปี 1906 ฟานจูตรินห์ทำหนังสือเปิดผนึกถึงข้าหลวงใหญ่ ปอล โบว์ เพื่อเรียกร้องให้ฝรั่งเศสทำการปฏิรูปเวียดนาม โดยเฉพาะให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์และระบบราชการแบบจีน แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ
ท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวทั้งสองแนวทางต่างก็ประสบความล้มเหลว เนื่องจากกลไกการปราบปรามของฝรั่งเศสมีประสิทธิภาพสูง และถึงแม้ว่าการจัดองค์กรของนักชาตินิยมในช่วงนี้จะมีระบบมากกว่าขบวนการเกิ่นเวืองในอดีต แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะท้าทายอำนาจของฝรั่งเศส เพราะการที่ไม่ให้ความสำคัญกับการได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ทำให้ไม่สามารถสร้างฐานสนับสนุนในหมู่ชาวเวียดนามได้อย่างเพียงพอ ตลอดจนยังได้รับอิทธิพลจากแนวทางการต่อสู้แบบดั้งเดิมที่เน้นการลุกฮือเป็นจุดๆ มากกว่าการวางแผนปฏิบัติการทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ
การเข้ามาของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์
ในขณะที่นักชาตินิยมในช่วงแรกรับแนวคิดมาจากจีน ขบวนการผู้รักชาติในระยะต่อมาก็มีโอกาสได้ศึกษาแนวความคิดของตะวันตกจากหนังสือที่ลักลอบส่งมาจากยุโรปหรือมีโอกาสเดินทางไปสัมผัสกับตะวันตกโดยตรง เช่น กลุ่มนักศึกษาที่ไปเรียนในฝรั่งเศส ชาวเวียดนามที่ถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ตลอดจนชาวเวียดนามที่ทำงานให้กับฝรั่งเศสและมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ จากการได้เรียนรู้แนวคิดของตะวันตก ทำให้พวกเขาจำนวนหนึ่งต้องการให้เวียดนามมีเอกราชและก้าวหน้าแบบตะวันตก การเคลื่อนไหวหนึ่งก็คือ การก่อตั้งพรรครัฐธรรมนูญขึ้นในปี 1923 โดยพรรคเรียกร้องให้มีกฎหมายหนังสือพิมพ์ที่เสรีมากขึ้น ให้โอกาสชาวเวียดนามมีตำแหน่งทางการเมืองมากขึ้น ให้กำหนดคุณสมบัติในการทำงานด้านกฎหมายที่เปิดกว้างมากขึ้น ฯลฯ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากฝรั่งเศสเท่าไรนัก
กลุ่มนักชาตินิยมที่สำคัญกลุ่มหนึ่งคือ ขบวนการคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีผู้นำคนสำคัญคือ เหงียนอ๊ายก๊วก (Nguyen Ai Quoc) ที่ต่อมาใช้ชื่อว่า โฮจิมินห์ ถึงแม้กลุ่มนี้จะรวมตัวกันเป็นองค์กรในปี 1925 แต่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่เวียดนามก่อนหน้านั้นแล้ว โดยมีองค์การคอมมิวนิสต์สากลหรือโคมินเทิร์น (Comintern)เป็นผู้ประสานงานอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เริ่มเข้าสู่เวียดนามตั้งแต่ปี 1903 เมื่อมีการประชุมพรรคกรรมกรสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (The Russian Social Democratic Workers Party) เนื่องจากการประชุมครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั้งในรัสเซียและในหลายประเทศรวมทั้งเวียดนาม มีหลักฐานบ่งชี้ว่า โฮจิมินห์น่าจะเริ่มศึกษาแนวความคิดมาร์กซ์-เลนินอย่างจริงจังตั้งแต่ปลายปี 1919 ระหว่างที่อยู่ในฝรั่งเศส เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมสมัชชาพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสที่เมืองตูร์ (Tours) ซึ่งจะจัดขึ้นในปีต่อมา อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ยืนยันว่าอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่เวียดนามอย่างแน่นอนคือ รายงานของทางการฝรั่งเศสในปี 1920 ที่ระบุว่าฝรั่งเศสเนรเทศชาวรัสเซียออกจากอินโดจีน เพราะนำแนวความคิดมาร์กซ์-เลนินเข้าไปเผยแพร่ในไซ่ง่อน จึงอาจกล่าวได้ว่า อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่เวียดนามอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 1920 เป็นต้นมา ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยที่สำคัญ 2 ประการคือ การขยายตัวของแนวความคิดสากลนิยมในขบวนการคอมมิวนิสต์ยุโรป และความพยายามแสวงหาแนวทางการต่อสู้แบบใหม่ของนักชาตินิยมเวียดนาม