|
จุดมุ่งหมายของการสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศของไทยสมัยสุโขทัย
๑. เพื่อขยายขอบเขตและอำนาจของอาณาจักรสุโขทัยให้กว้างขวางออกไป
๒. เพื่อป้องกันการรุกรานจากข้าศึกศัตรูภายนอก
๓. เพื่อรักษาความมั่นคงของอาณาจักร
๔. เพื่อผลประโยชน์ด้านการค้า และเศรษฐกิจของอาณาจักร
๕. เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีกับดินแดนอื่น
๖. เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน
รูปแบบของการสร้างความสัมพันธ์
.......สร้างความสัมพันธ์กับดินแดนใกล้เคียง........

ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์ของอาณาจักรล้านนาได้แก่ พญามังราย เป็นพระสหายสนิทกันรวมทั้งพญางำเมือง แห่งเมืองพะเยา ได้ผูกมิตรไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น เพื่อป้องกันการรุกรานจากพวกมองโกล นอกจากนั้น พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพญางำเมือง ยังเสด็จขึ้นไปช่วย พญามังรายเลือกชัยภูมิที่เหมาะสมและวางผังเมืองแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา คือ เมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พญาลิไท) อาณาจักรสุโขทัยกับอาณาจักรล้านนา ได้มีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมทาง พระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์ โดยพระเจ้ากือนาแห่งอาณาจักร ล้านนา ได้แต่งทูตมาขอพระสุมนเถระ ซึ่งเป็นพระภิกษุของอาณาจักรสุโขทัย ขึ้นไปสืบทอด และเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่อาณาจักรล้านนา
ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงั่ว) กษัตริย์แห่ง อาณาจักรอยุธยา ได้ยกทัพไปตีหัวเมืองหลายแห่ง และพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ทรงขอกำลังทัพสนับสนุนจากเจ้าเมืองล้านนาในขณะนั้น ก็ได้รับการช่วยเหลือ เป็นอย่างดีและในขณะนั้นอาณาจักรสุโขทัยมีกำลังอ่อนแอมาก เกรงว่า อาณาจักรล้านนา จะเข้ามาครอบครองอาณาจักรสุโขทัย พระมหาธรรมราชาที่ ๒ จึงยกทัพเข้าโจมตีอาณาจักรล้านนาจนได้รับความเสียหายมาก ส่งผลให้ ความสัมพันธ์ระหว่าง สุโขทัยกับล้านนายุติลง
|
ที่มา http://www.sema.go.th/files/Content/Social/k4/0042/Introduce%20Kingdom%20of%20thai/webpage/webpage/21.html
สร้างโดย:
นางสาวอภัสรา มูลมณี นางมาลัยวรรณ จันทร