ศิลปะสมัยศรีวิชัย



ในปัจจุบันนี้ได้มีการค้นพบสถาปัตยกรรมที่เนื่องในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน ที่ได้มีการสร้างสรรค์ขึ้นบนคาบสมุทรไทยสองประเภท คือ ประเภทแรก ได้แก่ สถูป (Stupa, or Tupa) และประเภทที่สอง ได้แก่ เจติยสถาน (Chaitya Hall)
สถูปในศิลปะแบบศรีวิชัยนั้น ถึงแม้ว่าจะปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วทั้งคาบสมุทรไทยก็ตาม แต่ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม สถูปในศิลปะแบบนี้ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบปาละที่เจริญรุ่งเรือง ขึ้นในบริเวณภาคตะวันออกเแยงเหนือของประเทศอินเดีย เป็นสถูปที่มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม เหนือส่วนฐานขึ้นไปเป็นรูปจำลองของอาคารทรงมณฑปรูปสี่เหลี่ยม มีซุ้มทั้งสี่ด้าน เหนือส่วนอาคารขึ้นไปเป็นส่วนยอดของสถูป ซึ่งทำเป็นสถูปรูปทรงกลมที่มียอดแหลมขึ้นไป จากสถูปที่มีการค้นพบในขณะนี้ สามารถที่จะจัดแบ่งออกได้เป็นสองรูปแบบ โดยสถูปรูปแบบแรกมีการสร้างสรรค์ขึ้นในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นสถูปที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบปาละของอินเดีย ส่วนสถูปในรูปแบบที่สองมีการสร้างสรรค์ขึ้นในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่ 16-19 เป็นสถูปที่ได้วิวัฒนาการออกไปจากสถูปในรูปแบบแรกไปสู่รูปแบบทางศิลปะที่ เป็นของท้องถิ่น
- สถูปรูปแบบแรก เป็นสถูปที่มีแผนผังเป็นรูปกากบาท ตั้งอยู่บนส่วนฐานที่อาจจะมีเพียงชั้นเดียวหรือซ้อนกันหลายชั้น เหนือส่วนฐานขึ้นไปเป็นส่วนองค์ของสถูปเป็นรูปมณฑปและมีซุ้มทั้งสี่ด้าน เหนือส่วนองค์ของสถูปนี้ขึ้นไปเป็นส่วนยอด ซึ่งทำเป็นสถูปทรงกลม สถูปที่สำคัญในรูปแบบนี้ยังคงปรากฏอยู่หลายแห่ง อาทิ
1) สถูปวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นสถูปที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตรงบริเวณประตูทางเข้าของระเบียงของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นสถูปที่มีส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยม ฐานส่วนใหญ่ฝังอยู่ในพื้นดิน เหนือขึ้นมาเป็นส่วนมณฑปของสถูป มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน เหนือมุขขึ้นไปมีสถูปทรงกลมขนาดเล็กประดับอยู่มุขละองค์ ส่วนตรงกลางเป็นส่วนยอดที่สูงขึ้นไปเป็นสถูปทรงลังกาที่มีฐานเป็นรูปบัวหงาย สถูปองค์นี้มีรูปแบบทางศิลปะคล้ายคลึงกันกับจันทิกาละสัน (Kalasan) ในชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย ที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 14 และสถูปมิเซิน เอ 1 (Mi Son AI) ที่ดงเดือง ประเทศ เวียดนาม ที่สร้างขึ้นเมื่อราวปลายพุทธศตวรรษที่ 15 จึงสันนิษฐานว่าสถูปในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารองค์นี้ได้รับการสร้างสรรค์ ขึ้นในระหว่างราวพุทธศตวรรษที่14-15
2) สถูปวัดพระบรมธาตุไชยาราชวรวิหาร ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นสถูปที่มักจะเรียกกันโดยทั่วไปว่า " พระบรมธาตุไชยา" ในชั้นเดิมอาจจะมีการสร้างขึ้นในระยะเวลาเดียวกันกับสถูปในวัดแก้ว (หรือวัดรัตนาราม) ที่ตั้งอยู่ใกล้กันกับเมืองโบราณไชยา แต่ระยะหลังอาจจะมีการบูรณะหลายครั้ง จนรูปแบบได้เปลี่ยนแปลงไปมากก็เป็นได้ โดยทั่วไปรูปทรงของสถูปองค์นี้มีลักษณะใกล้เคียงกันกับสถาปัตยกรรมบางหลัง ที่ชวาภาคกลางที่มีรูปสลักไว้บนระเบียงที่สร้างขึ้นโดยรอบสถูปบุโรพุทโธ (Borobudur) ในชวาภาคกลาง ประเทศอินโดนีเซีย แต่จากการที่พระบรมธาตุไชยาได้รับการซ่อมแซมอย่างมากมาย ทำให้มีรายละเอียดเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถจะนำไปเปรียบเทียบกันได้กับ สถาปัตยกรรมที่ชวาภาคกลางและสถาปัตยกรรมของจามในประเทศเวียดนาม แต่อย่างไรก็ดี โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของโบราณสถานแห่งนี้มีรูปแบบอย่างเดียวกันกับศาสนา สถานของจาม จากรายงานในปี พ.ศ. 2439 ได้กล่าวว่าฐานเดิมของโบราณสถานแห่งนี้อยู่ลึกลงไปจากระดับผิวดิน 1.00 เมตร รวมทั้งจากปีดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2444 ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่ ในรายงานการซ่อมแซมของปี พ.ศ. 2439 ได้กล่าวว่า ได้ค้นพบหลักฐานของการซ่อมแซมโบราณสถานแห่งนี้หลายครั้งในอดีต
